ธนไพศาล ใช้ “ENZease” ช่วยลดค่าใช้จ่าย-รักษาสิ่งแวดล้อม
หสน.ธนไพศาล ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอนไซม์ จนได้สารชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์ ที่เรียกว่า ENZease มาใช้ทดแทนสารเคมีในกระบวนการผลิตซึ่งสามารถนำไปใช้กับกระบวนการการผลิตผ้าของโรงงาน โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มเครื่องจักรใดๆในกระบวนการผลิต
โดยปกติในกระบวนการลอกแป้งออกจากผ้า ทางธนไพศาลหันไปใช้เอนไซม์จากต่างประเทศ แทนการใช้เคมีมานานแล้ว แม้จะมีราคาแพงแต่ก็ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ แต่ในกระบวนการขจัดสิ่งสกปรกนั้น ยังต้องใช้เคมีจำพวกสารซักฟอกเพื่อกำจัดเพกตินกับขี้ผึ้ง เฉพาะทั้งสองขั้นตอนนี้ต้องทำแยกออกจากกันจึงต้องใช้น้ำมาก แต่เมื่อได้ทดลองใช้ ENZease แล้ว สองขั้นตอนนี้สามารถลดเหลือเพียงขั้นตอนเดียว และราคาของ ENZease ก็ถูกกว่า เอนไซม์ของต่างประเทศด้วย
จากการใช้ ENZease ทำให้ประหยัดเวลารวมถึงลดการใช้น้ำและพลังงาน โดยลดการใช้น้ำลงได้ในอัตรา 20 ลบ.ม. /ตันผ้า (ค่าน้ำเฉลี่ย ลบ.ม.ละ 13 บาท สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ตามข้อกำหนดจากการประปานครหลวงในปัจจุบัน) และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตไอน้ำร้อนและเดินเครื่องจักรได้ในอัตรา150 กิโลวัตต์/ตันผ้า (ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย2บาท/กิโลวัตต์)ลดการใช้สารเคมีลงจากกระบวนการดั้งเดิมในอัตรา 1,260 บาท/ตันผ้า ดังนั้นเมื่อไม่ใช้สารเคมีและปริมาณน้ำที่ใช้ลดลง ทำให้มีน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่ระบบบำบัดลดลง จึงง่ายต่อการบำบัดและช่วยลดต้นทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยรวมแล้วลดค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ประมาณ 20-30% และลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการเตรียมผ้าฝ้ายก่อนนำไปย้อมได้ถึง 50% พร้อมลดเวลาจาก 2 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง หากโรงงานใดสนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพไบโอเทค