วิจัยและพัฒนางานผ้า
พลิกฟื้นผ้าทอ...ศิลปาชีพ
จากจุดเริ่มต้นที่ธนไพศาลให้ความใส่ใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและมีการวิจัยพัฒนา (R&D) สินค้าใหม่ๆ กระบวนการผลิตใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เล็งเห็นโอกาสในการนำผ้าทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่มีอยู่มากมาย มาทำการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) ซึ่งก็ได้รับความไว้วางใจสนับสนุนเงินทุนเพื่อนำมาทำการวิจัยและพัฒนาโครงการร่วมกันกับทางสถาบันฯ
ในปี 2556 ที่ผ่านมา จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในการคัดสรรผ้าทอของมูลนิธิฯ เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้สอยได้ จากการลงมือทำเราสังเกตเห็นว่า ผ้าของมูลนิธิฯ ส่วนใหญ่จะทอในลักษณะที่ค่อนข้างหนา ถ้านำมาตัดเย็บเสื้อผ้าก็จะมีความหนามากเกินไปไม่เหมาะกับการสวมใส่ แต่หากนำมาทำเป็นกระเป๋าจะประสบปัญหาผ้าบางไม่ทรงตัว เราจึงแก้ไขโดยการนำเทคนิคของการทำ Coating ที่จะทำให้ผ้าหนาขึ้น การทำ Lamination ที่เป็นการนำผ้ามาประกอบกันให้แข็งแรงมากขึ้น ก็จะสามารถทำให้ผ้าที่มีอยู่เกิดประโยชน์ใช้สอยได้หลากหลาย ส่งผลให้มีตลาดกว้างมากขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกจากได้หาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ทางสถาบันฯ ได้ร้องขอว่าอยากให้มีการสร้างสรรค์ผ้าชนิดใหม่ ๆ ที่จะนำมาสร้างสินค้าที่เป็น Highlight ของโครงการเพิ่มเติมด้วย
ผ้าทอกี่เอว จึงเป็นวัตถุดิบที่เราคิดว่าน่าจะนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าเด่นของโครงการได้ เนื่องจากผ้ากี่เอวที่ชาวเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงทอนั้น มีความหนาอยู่ในตัว มีลวดลายที่สวยงาม และมีหน้าแคบเหมาะที่จะนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าได้ จึงนำความคิดนี้ไปปรึกษากับมูลนิธิฯ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำกลุ่มชาวเขาที่บ้านแม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ให้เป็นกลุ่มทอผ้าในโครงการ
เมื่อได้ผู้ทอแล้วก็มาถึงขั้นตอนลงมือทำ เราพบปัญหาว่าผ้าที่ชาวบ้านทอนั้นมีหน้าแคบกว่าที่เราต้องการเล็กน้อย หากจะนำมาทำกระเป๋าใบใหญ่ต้องมีหน้ากว้างมากขึ้น เมื่อเจรจาทำความเข้าใจกันเรียบร้อย ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทอ เพื่อให้สามารถทอผ้าได้หน้ากว้าง 55 ซม. จากเดิมที่ทอกันอยู่ที่หน้ากว้าง 45 ซม. นอกจากนี้เราได้นำเอาโครงสร้างของผ้ามาศึกษาและออกแบบใหม่ให้แข็งแรงและน่าใช้สอยมากยิ่งขึ้น เช่น ออกแบบเบอร์เส้นด้ายที่ใช้ใหม่ สีสันที่ใช้ก็ออกแบบการจับคู่สีใหม่ ให้ย้อมสีตามแบบที่เรากำหนด สุดท้ายได้จัดให้มีการประกวดผ้าทอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่เราต้องการมากที่สุด โดยกำหนดกติกาในการจัดประกวดคือ 1. ผ้าที่ทอเรียบร้อยต้องมีหน้ากว้าง 55 ซม. 2. ต้องทอได้ยาวมากกว่า 2 เมตร ดูความเรียบร้อยของการทอ ดูความถูกต้องของลวดลาย การทำเช่นนี้ทำให้เราควบคุมคุณภาพได้ตามที่ต้องการ และได้ผ้าใกล้เคียงกับสเป็คมากที่สุด หลังจากนั้นก็นำมาทำ Coating และ Lamination ต่อ งานในโครงการนี้สร้างสรรค์ผ้าออกมาได้ทั้งหมด 5 คอลเลคชั่น ๆ ละ 4 แบบ
ผลลัพธ์จากการลงมือทำ เราได้ผ้ากี่เอวแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สีสันสวยงามพร้อมนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เหนือสิ่งอื่นใดโครงการนี้ได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมในการผลิตของชาวบ้านมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนสามารถสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของชาวบ้านและยังช่วยแก้ปัญหาให้กับมูลนิธิฯได้ รวมถึงเรายังสามารถนำความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมาต่อยอดทำการตลาดเป็นสินค้าใหม่ ๆ ได้อีกด้วย...